|
หักพร้าด้วยเข่า 
บทความธรรมมะ |
|
หักพร้าด้วยเข่า |

พระราชวิจิตรปฏิภาณ / หักพร้าด้วยเข่า - 15/12/2549
พระราชวิจิตรปฏิภาณ / หักพร้าด้วยเข่า
โบราณวอน สอนใจ เอาไว้ว่า ถ้า หักพร้า ด้วยเข่า ต้องเศร้าจิต ทำอะไร ถ้าร้อนรน ผลสัมฤทธิ์ เข่าและมือ เลือดเปื้อนติด พิษศาตรา ทำอะไร ค่อยไตร่ตรอง มองเหตุผล และมองคน หน้า-หลัง ทั้งซ้าย-ขวา ถึงเราเก่ง อย่าตะเบ็ง เร่งเวลา รอศรัทธา สามัคคี ย่อมมีชัย
การรณรงค์เพื่อให้คนละเลิกอบายมุข 5 ประการ คือ เหล้า บุหรี่ การพนัน เพศสัมพันธ์ เที่ยวสถานเริงรมย์ ที่เห็นกระทำกันอยู่ในขณะนี้มี 2 วิธีคือ หักพร้าด้วยเข่า เอาดีเฉพาะหน้า
หักพร้าด้วยเข่า ย่อมมีเหตุอย่างน้อย 3 ประการ คือ มีความรู้ดี มีความหวังดี มีอำนาจ ทั้ง 3 ประการ นี้เป็นที่มาของวิธีการหักพร้าด้วยเข่า แต่ลองคิดง่ายๆ ในความเป็นจริงว่า คนที่ติดสุราอย่างรุนแรง ถ้าเลิกแบบ หักดิบ ผลของมันก็คือ ลงแดง พฤติกรรมของคนลงแดงคือ กระหาย เจ็บปวด ฉุนเฉียว บ้าคลั่ง วิธีการคือต้องผ่อนการดื่มลงวันละเล็กน้อย จนถึงไม่ดื่ม การเลิกเสพยาก็เช่นเดียวกัน มิใช่จับผู้เสพได้แล้วก็ขังเลย ตัดขาดเลย ต้องมีกฎหมายเอื้อต่อเจ้าหน้าที่ให้มีการให้ยาในลักษณะ เสพบำบัด ทั้งนี้ ต้องอยู่ในการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งต้องมีตำรวจเฉพาะทาง หรือ เจ้าหน้าที่เรือนจำเฉพาะทางไว้ด้วย การหักพร้าด้วยเข่าแบบ หักดิบ ย่อมไม่เป็นผลดีในกรณีทั้งปวง
เอาดีเฉพาะหน้า การรณรงค์แบบเอาดีเฉพาะหน้า ย่อมไม่รอดพ้นจากสายตาและการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ซึ่งกอปรด้วยผู้รู้ผู้มีประสบการณ์มากมาย อีกทั้งพฤติกรรมของนักรณรงค์แบบนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนอยู่ในหลายๆ เรื่อง การให้ความร่วมมือจึงไม่เกิดขึ้น ควรดูแบบอย่างท่านเจ้าคุณอลงกต วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ท่านไม่ทำแบบเอาดีเฉพาะหน้า แต่ทำเรื่อง เอดส์ แบบครบวงจร คือ ดูแลรักษา ให้ความรู้ความเข้าใจ ท่านทำอย่างเด็ดเดี่ยว เดียวดาย ถึงแม้ทางการจะไม่ช่วยมากนัก แต่ก็ได้รับการสรรเสริญและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและสื่อ
การที่พระหรือใครๆ ก็ตามจะรณรงค์เรื่องอบายมุขนั้น จึงไม่ควรที่จะหักพร้าด้วยเข่า อบายมุขเป็นพร้า (มีด) เล่มเบ้อเร่อ คนหักมือเล็กเข่าลีบ มีแต่จะบาดมือบาดเข่า จึงเห็นเลือดของผู้หวังดี แต่ขาดการใคร่ครวญคำนวณแรง ผลที่สุดก็ต้องมานั่งรักษาบาดแผลด้วย
การรณรงค์อบายมุข 5 ประการดังกล่าวข้างต้น จึงควรศึกษากระบวนการอย่างน้อย 5 ประการ คือ ศรัทธา ปัญญา รักษาสุขภาพ ทราบความเสียหาย ออกกฎหมายลงโทษ
ศรัทธา ผู้ที่จะทำการรณรงค์ หรือ ห้ามปราม ต้องคำนวณตัวเองว่าสังคมมีศรัทธาในตัวเราระดับไหน คือต้องมีอัตัญญูตา รู้ประมาณตัวเองก่อน อีกทั้งรู้ ปุคคโลปรปรัญญูตา คือ รู้ว่าสังคมยอมรับเราในระดับไหน คือ รู้เรา รู้เขา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง หรือถ้าเรามีหน้าที่ๆ จะต้องทำ แต่สังคมไม่ศรัทธา ก็หาบุคคลที่สังคมรักและศรัทธาออกมารณรงค์
ปัญญา การให้ความรู้ให้มองเห็นบาปบุญคุณโทษนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังเสียแต่ยังเยาว์
รักษาสุขภาพ ให้คนรักษาสุขภาพด้วยความรักพ่อแม่ที่สู้อุตส่าห์เลี้ยงดูมาด้วยความรัก ทะนุถนอม อีกทั้งต้องมีกฎหมายกำกับในการรักษาพยาบาลผู้ที่เสพเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อย่าให้ความสำคัญต่อชีวิตของคนพวกนี้มากนัก เพราะเขาใช้ภาษีของคนดีโดยเปล่าประโยชน์
ทราบความเสียหาย ต้องพร่ำสอน เพียรสอน ให้รู้ผลความเสียหายของอบายมุข ลองเปิดหนังสือ นวโกวาท ดูก็จะเห็นโทษของอบายมุข แต่ต้องให้พระและคนที่สังคมศรัทธาเป็นผู้สอน จะสอนโดยหนังสือหรือบรรยาย เทศน์ หรือ รณรงค์สั้นๆ คำสอนทุกอย่างนั้นดีทั้งหมด เพียงแต่ว่า ออกจากปากใคร เท่านั้น
ออกกฎหมายลงโทษ ขั้นตอนต่อมาคือออกกฎหมายลงโทษ เมื่อผู้เสพนั้นกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น และต้องลงโทษให้คุ้มกันกับเจตนาและความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขับรถเมาสุรา ชนรถคันอื่น มีคนตาย 3 คน เมื่อผู้ขับกระทำการดังนี้ ต้องชดใช้ทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย ส่วนชีวิตนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส ถ้าทรัพย์สินส่วนรวมเสียหายต้องปรับเงินเพื่อชดใช้ภาษีที่นำมาสร้างสาธารณประโยชน์ ถ้าเป็นรถรับจ้างต้องมีกฎหมายปรับต่อผู้ว่าจ้าง ฯลฯ
ลองดูวิธีทั้ง 5 ประการนี้ ก็จะเห็นว่าการที่พวกเราผู้รักชีวิต ทรัพย์สิน สังคม ประเทศชาตินั้น พอมีทางที่จะทำงานรณรงค์อย่างได้ผล คือได้ใจคนเข้าเป็นแนวร่วม ถ้าทำแบบหักพร้าด้วยเข่า จะเกิดแนวต้านและการทำประชดขึ้นในสังคมทันที
ทำอะไร อย่าท้อ ทำต่อเนื่อง เมื่อจับเรื่อง ใดใด อย่าไปปล่อย อย่าแชเชือน เอื้อนอิด ตะบิดตะบอย ผลที่พลอย ได้รับ กลับมาคุ้ม
|
ที่มา: ศาลาเผยแผ่ | | |
บทความธรรมะยอดนิยม
|